ระบบโปรแกรม E-HOS Accounting ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ พศ.2559 โดยนายสุวิทย์ อภิวัฒน์วราวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ซึ่งได้ปฏิบัติงานในกลุ่มงานยุทธศาสตร์ ประกันสุขภาพ และสารสนเทศทางการแพทย์ โรงพยาบาลสิงหนคร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนั้นได้ รับผิดชอบงานระบบข้อมูลสารสนเทศทั้งหมดของโรงพยาบาล ประกอบกับรับผิดชอบงานหลักประกันสุขภาพ และขณะนั้น ยังได้เป็นผู้ดูแลระบบสารสนเทศในระดับจังหวัด ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โดยช่วงเวลาหนึ่งได้ไปติดตั้งระบบ Datacenter ให้แก่โรงพยาบาลสงขลา ซึ่งขณะนั้นได้มีการประชุมติดตามปัญหาระบบบัญชีของทางโรงพยาบาลสงขลา ที่มียอดลูกหนี้ค้างชำระในระบบถึง 50 ล้านบาท และกำลังจะขอตัดหนี้สูญ เนื่องจากไม่สามารถติดตามได้ โดยขณะนั้น รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของโรงพยาบาลสงขลา ได้ขอให้เข้าไปร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา
จากในที่ประชุมพบว่า ปัญหาที่เกิดมาจากระบบการลงข้อมูลบัญชี ที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องกัน 2 ส่วนคือ งานประกันสุขภาพ และงาน การเงินและบัญชี ที่พบปัญหาในการประสานงานเรื่องข้อมูล ทำให้ไม่สามารถติดตามและตรวจสอบได้ถึงความครบถ้วนถูกต้อง ของทั้ง 2 ระบบงาน ขณะนั้นจึงได้รับปากในการช่วยหาวิธีในการแก้ไขปัญหาที่เกิด และในเวลาเดียวกัน ในส่วนของโรงพยาบาลสิงหนคร ก็ได้รับการตรวจประเมินจาก สตง. ในส่วนของระบบการเงินและบัญชี และได้เข้าร่วมชี้แจงในกระบวนการตรวจสอบเนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในระบบงาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ สตง. ได้ให้ประมวลข้อมูลจากระบบโรงพยาบาลเป็นข้อมูลการเงินรายบุคคลของผู้รับบริการ แล้วนำไปเปรียบเทียบกับ ข้อมูลที่ทางฝ่ายบัญชีได้บันทึกไว้
ซึ่งหลังจากการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลไม่ตรงกัน และมีลักษณะปัญหาเหมือนกับของ โรงพยาบาลสงขลา จึงทำให้เริ่มศึกษาข้อมูลโดยเริ่มจากฝั่งของทางระบบการเงินและบัญชี เพื่อหารูปแบบชุดข้อมูลที่ตรงตามความต้องการและถูกต้องตามแนวทางการทำงาน และได้เริ่มเขียนโปรแกรมในขณะนั้น ซึ่งเป็นเพียงระบบเล็ก ๆ ที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลแค่ 2 กลุ่ม คือจากระบบข้อมูลในฐานข้อมูลของโรงพยาบาล กับ ในส่วนของฐานในระบบ โปรแกรม ECLAIM (เป็นระบบโปรแกรมในการขอเบิกค่าชดเชยค่าบริการ จาก สปสช.) และหลังจากนั้น ก็ได้มีการถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนา คือ ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการในเรื่องศูนย์จัดเก็บรายได้ และมีระบบรายงานข้อมูลด้านการเงินและบัญชีที่ใช้งานง่าย สะดวก ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ระบบ สามารถสะท้อนปัญหาสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลได้อย่างเที่ยงตรงมากที่สุด